aubeautycare

คอลลาเจน

คอลลาเจน คืออะไร?

          คอลลาเจน (Collagen) คือ เส้นใยโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่คล้ายกาวเกาะยึดส่วนต่างๆ ในร่างกาย เป็นองค์ประกอบหลักของผิวหนัง ขน เส้นผม กระดูกอ่อน ข้อต่อ หลอดเลือด กล้ามเนื้อ รวมถึงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งร่างกายมนุษย์ทุกคนสามารถสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ โดยปกติแล้วคอลลาเจนจะถูกสังเคราะห์โดยกรดอะมิโนที่ร่างกายได้รับจากรับประทานสารอาหารชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซี แต่หากร่างกายมีปริมาณวิตามินซีไม่เพียงพอ การสังเคราะห์คอลลาเจนก็อาจจะไม่สมบูรณ์

คอลลาเจนที่ร่างกายได้รับมักมาจาก : การทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา พืช หรือผลิตภัณฑ์จากนม จะเข้าไปย่อยสลายจนแตกตัวและก่อตัวขึ้นใหม่ กลายเป็นเส้นใยโปรตีนหรือคอลลาเจน ซึ่งทําหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย คอยช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่น คงความกระชับ เต่งตึง เรียบเนียน และช่วยปกป้องความแข็งแรงให้กับกระดูกอ่อน

โดยร่างกายจะสามารถผลิตคอลลาเจนได้มากในขณะที่เรามีอายุน้อย และจะลดปริมาณการผลิตคอลลาเจนลงเมื่ออายุมากขึ้น

โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไปพบว่าการสังเคราะห์คอลลาเจนจะลดลงหรือในผู้ที่มีปัจจัยบางอย่างทำให้คอลลาเจนเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนออกมาวางขายเป็นจำนวนมาก มีทั้งชนิดเม็ดหรือชนิดผงละลายน้ำ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ต่างกล่าวอ้างสรรพคุณของคอลลาเจนทั้งในเรื่องของการบำรุงให้ผิวอ่อนเยาว์ ผิวเนียนละเอียด มีสุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก หรือบางครั้งก็โฆษณาสรรพคุณด้านการบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อโรคกระดูกเสื่อม เราจะมาดูกันว่าการใช้คอลลาเจนเสริมในรูปแบบต่างๆ นั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่

     คอลลาเจน มีกี่ประเภท?

     คอลลาเจน เป็นเส้นใยโปรตีนประเภทหนึ่ง ในร่างกายเรามีคอลลาเจนอยู่ประมาณร้อยละ 6 ของน้ำหนักตัว หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของโปรตีนทั้งหมดของร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของโครงสร้างผิว กระดูกอ่อนและหลอดเลือด เป็นต้น ในปัจจุบันมีการค้นพบคอลลาเจนมากกว่า 18 ชนิด แต่คอลลาเจนที่พบมากที่สุด 5 ชนิดได้แก่

     • คอลลาเจนประเภทที่ 1 (type I)

ซึ่งพบมากถึง 90% ของคอลลาเจนทั้งหมดในร่างกาย ช่วยในการสร้างกระดูก ผนังหลอดเลือด เอ็นและเอ็นยึดกล้ามเนื้อ ผิวหนัง กระจกตา และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) มีความเหนียวและแข็งแรงมากที่สุด

     • คอลลาเจนประเภทที่ 2 (type II)

พบมากในกระดูกอ่อน เช่น ส่วนประกอบของหู จมูก หลอดลม และกระดูกซี่โครง ทำหน้าที่แตกต่างจากคอลลาเจนประเภทที่ 1 อย่างสิ้นเชิง โดยจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสังเคราะห์ของเซลล์ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อการลดอัตราการเสื่อมของกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อ ซึ่ง คอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นคอลลาเจน ที่พบได้ในกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและให้ความแข็งแรงแก่ข้อต่อในขณะที่มีการเคลื่อนไหว

     • คอลลาเจนประเภทที่ 3 (type III)

มักพบร่วมกับประเภทที่ 1 คือพบในผิว กล้ามเนื้อ และผนังหลอดเลือด

     • คอลลาเจนประเภทที่ 4 (type IV)

พบในส่วนของชั้นเยื่อบุผิว (epithelium-secreted layer)ได้แก่ เบซัล ลามินา (basal lamina) และชั้นเนื้อประสานที่รองรับเนื้อผิว (basement membrane) เป็นคอลลาเจนที่มีลักษณะเฉพาะตัว พบมากบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มกล้ามเนื้อและไขมัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานของระบบประสาทและเส้นเลือดอีกด้วย

     • คอลลาเจนประเภทที่ 5 (type V) พบในผิวของเซลล์ ผม และรก

คอลลาเจน แบ่งออกเป็น 4 ชนิดตามขนาดโมเลกุล

     • คอลลาเจนเปปไทด์ (Collagen Peptide) มีโมเลกุลใหญ่กว่า 300,000 ดาลตัน

     • คอลลาเจนไตรเปปไทด์ (Collagen Tripeptide)เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนย่อยจนเหลือกรดอะมิโน 3 ตัวเรียงกัน มีขนาดโมเลกุลเฉลี่ย 500-1000 ดาลตัน มีความสามารถในการดูดซึมได้ในระดับปานกลาง

     • คอลลาเจนไดเปปไทด์ (Collagen Dipeptide) เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยโดยเอนไซม์ จนเหลือกรดอะมิโน 2 ตัวเรียงกัน มีโมเลกุลขนาดเล็กเพียง 200 ดาลตัล จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วและมากกว่าคอลลาเจนทั้ง 2 ชนิดแรก

     • ไฮโดรไลซ์ คอลลาเจน (Hydrolyzed Collagen) เป็นคอลลาเจนที่ผ่านการย่อยด้วยกรดจนได้ขนาดอนุภาคที่เล็กที่สุด ที่ยังคงแสดงคุณสมบัติของความเป็นคอลลาเจน ซึ่งขนาดยิ่งเล็กเท่าใดจะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ดียิ่งขึ้น ดูดซึมได้ดีกว่าคอลลาเจนทั่วไป 3-4 เท่า

ประโยชน์ของคอลลาเจน

หลายคนคงเกิดความสงสัยว่าถ้ากินคอลลาเจนไปแล้วจะมีผลดีอย่างไร ซึ่งมีหลายงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับคอลลาเจนแสดงให้เห็นว่าคอลลาเจนมีประโยชน์ ดังนี้

     • ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความชุ่มชื้น ความฟู และลดความหยาบกร้านของผิว

     • ช่วยทำให้ริ้วรอยที่เห็นได้ชัดดูจางลง

     • ลดการเปราะแตกของเล็บ

     • ช่วยชะลอการสลายของมวลกระดูก เมื่อกินคู่กับแคลเซียมและวิตามิน ดี

     • ช่วยเรื่องสุขภาพของข้อต่อในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น ลดอาการปวดข้อต่อ เป็นต้น

ซึ่งการกินคอลลาเจนให้ได้ผลดี แนะนำว่าควรเลือกคอลลาเจนสายสั้น (hydrolyzed collagen) เนื่องจากเป็นคอลลาเจนที่ผ่านการไฮโดรไลซ์ (hydrolysis) จนมีขนาดที่เล็กลง ทำให้ร่างกายดูดซึมได้ง่าย และกลายเป็นองค์ประกอบของการสร้างคอลลาเจนในร่างกาย โดยปริมาณของคอลลาเจนที่กินใน 1 วันโดยให้ผลที่ดีและและปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียงคือ 2.5 – 15 กรัม

สาเหตุที่ทำให้คอลลาเจนในผิวลดลง

จากข้อมูลในเบื้องต้น เราจะพาไปดูกันว่าเมื่อใดที่ร่างกายผลิตคอลลาเจนได้น้อย ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม โดยสาเหตุที่ทำให้คอลลาเจนในผิวลดลงมีดังนี้

รังสียูวี

รังสียูวีจากแสงแดด มีส่วนทำให้คอลลาเจนบนชั้นผิวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยรังสียูวีจะเข้าไปทำลายเซลล์ดีเอ็นเอที่มีหน้าที่คอยสร้างคอลลาเจน จนส่งผลให้คอลลาเจนในผิวสลายตัวในอัตราสูง จึงทำให้ผิวมีความบอบบางและเกิดริ้วรอยได้ง่าย

ความเครียด

ความเครียดจะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่าคอร์ติซอล เป็นฮอร์โมนที่มีส่วนทำลายคอลลาเจนบนชั้นผิว และยังลดการผลิตคอลลาเจนตามธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการทำให้ตัวเองเครียด ถ้าไม่อยากมีผิวที่เสื่อมโทรมหรือริ้วรอยตามหาก่อนวัย

อายุเพิ่มขึ้น

อายุเพิ่มขึ้นถือเป็นตัวการที่หนีไม่ได้เลย เพราะเมื่อร่างกายอายุมาก ก็จะทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมโทรมไปด้วย นั่นเพราะความสามารถของร่างกายในการผลิตคอลลาเจนตามธรรมชาติลดลง ดังนั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คอลลาเจนลดลง พร้อมทั้งเติมคอลลาเจนในรูปแบบอาหารเสริมให้แก่ร่างกายไปด้วย

สูบบุหรี่

บุหรี่ไม่เพียงแต่จะทำลายสุขภาพหรืออวัยวะข้างในเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำลายผิวของคนเราให้เสื่อมโทรมและแก่กว่าวัยได้อีกด้วย นั่นเพราะบุหรี่จะเข้าไปทำลายคอลลาเจนและอิลาสตินในร่างกายของคนเราโดยตรง อีกทั้งยังทำลายสารอาหารอย่างวิตามินซีที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่มีความจำเป็นในการผลิตคอลลาเจนตามธรรมชาติ

บริโภคน้ำตาลปริมาณมาก

น้ำตาลคือตัวการที่นอกจากจะทำให้ร่างกายอ้วนแล้ว ยังส่งผลให้ผิวของสาวๆ สูญเสียคอลลาเจนอีกด้วย เพราะเมื่อใดที่ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินไป จะทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย พร้อมทั้งส่งผลเสียต่อคอลลาเจน และทำให้เกิดการสูญเสียอิลาสตินในผิวไปพร้อมกัน

ร่างกายรับวิตามินซีน้อย

อย่าลืมว่าร่างกายต้องการวิตามินซีเพื่อสร้างคอลลาเจนให้กับผิว จึงไม่แปลกที่เมื่อใดร่างกายรับวิตามินซีในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะทำให้ผิวเสื่อมโทรม มีริ้วรอย หรือแก่ก่อนวัยได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตคอลลาเจนตามธรรมชาติได้ดีเท่าที่ควร

เมื่อสาวๆ ทราบถึงตัวการที่ทำให้คอลลาเจนในผิวลดลงกันแล้ว ควรหลีกเลี่ยงตัวการเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งการเสริมวิตามินซีแก่ร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่ช่วยสร้างคอลลาเจนก็สามารถเสริมให้กับร่างกายได้ด้วยการกินผักผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซีได้เช่นเดียวกันค่ะ

ควรรับประทานไฮโดรไลซด์ ฟิช คอลลาเจน ไตรเปปไทด์ อย่างไร

          การจะใช้ไฮโดรไลซด์ ฟิช คอลลาเจน ไตรเปปไทด์ ให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดควรรับประทานต่อเนื่อง วันละ 2.5-15 กรัม ต่อวัน สูงสุดได้ถึง 30 กรัมต่อวัน เนื่องจากดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีความเครียด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จะมีการสังเคราะห์คอลลาเจนที่ลดลงจนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ดังนั้น ทางเดียวที่จะช่วยให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนอย่างเพียงพอ ลดความเสื่อมของร่างกาย คือ การรับประทานคอลลาเจนเสริม อย่างไรก็ตาม ในอาหารพบคอลลาเจนในปริมาณน้อยจึงอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย การรับประทานคอลลาเจนที่มีการสกัดเข้มข้นในอาหารเสริม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ร่างกายได้รับปริมาณคอลลาเจนอย่างเพียงพอ

6 วิธีเลือกกินอาหาร ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน

เราลือกการกินอาหารที่ช่วยชะลอการสลายและมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วยและนี่คือ 6 เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยให้คอลลาเจนในร่างกายอยู่กับเราไปนานๆ

กินโปรตีนต่อวันต้องเพียงพอ

ทำให้สร้างคอลลาเจนได้อย่างเต็มที่ อย่างที่รู้กันแล้วว่าคอลลาเจนคือ โปรตีนชนิดหนึ่ง ดังนั้นการกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ไข่ หรือ ธัญพืชต่าง ๆ ให้เพียงพอความต้องการต่อวัน หรือ 1 – 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ถ้าหากเรามีน้ำหนักตัวที่ 50 กรัม แสดงว่าเราต้องกินโปรตีนให้ได้ 50 - 60 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการเลือกกินเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ ปลา ให้ได้รวม ๆ กันประมาณ 200 - 250 กรัม การกินโปรตีนที่เพียงพอ ร่างกายจะย่อยเป็นกรดอะมิโนเพื่อนำไปสร้างเป็นคอลลาเจนไปใช้ประโยชน์ต่อสภาพผิว ข้อเข่า หรือมวลกระดูก นอกเหนือจากการนำไปปรับสมดุลของโปรตีนในร่างกายนั่นเอง

กินอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซี 

เพราะวิตามิน ซี ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่ช่วยชะลอการสลายของคอลลาเจน โดยแหล่งของวิตามิน ซี คือ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ฝรั่ง ผักคะน้า บรอกโคลี สตรอเบอร์รี่ ส้ม แอปเปิ้ลแดง มะนาว เบอร์รีชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

กินอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอ 

เพราะวิตามิน เอ ช่วยกระตุ้นการเติบโตของไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ที่มีหน้าที่สร้างคอลลาเจนและอิลาสตินของร่างกาย ที่ทำให้ผิวพรรณยังเต่งตึง โดยแหล่งอาหารที่มีวิตามิน เอ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักที่มีสีเขียวเข้มและสีเหลืองส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอทมะละกอสุก เป็นต้น

กินอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินอี

เพราะวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำงานคู่กับวิตามินซี โดยแหล่งของวิตามินอี คือ น้ำมันพืชต่าง ๆ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังพบใน ถั่วอัลมอนด์ อาโวคาโด มะม่วง กีวี เป็นต้น

หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน

เพราะน้ำตาลจะทำให้เกิดกระบวนการไกลเคชัน (glycation) ที่จะส่งผลให้คอลลาเจนเสียรูปร่าง และไม่ยืดหยุ่นแบบที่ควรเป็น

ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8 – 10 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน

น้ำเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างคอลลาเจนในร่างกาย หากดื่มน้ำไม่พอการสร้างคอลลาเจนก็จะลดลงไปด้วยนั่นเอง

โรคกระดูกพรุน

เมื่อกล่าวถึงโรคที่เกี่ยวกับกระดูกแล้ว สิ่งที่พูดถึงกันมากคือ กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน และกระดูกอ่อน ซึ่งอย่าเหมารวมว่าเป็นโรคเดียวกันหรือมีการรักษาแบบเดียวกัน แต่ละอย่างก็มีลักษณะและการรักษาที่แตกต่างกันไป

ดังนั้น จึงขออธิบายลักษณะของโรคกระดูกทั้ง 3 แบบ คือ กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน และกระดูกอ่อน เพื่อให้เห็นความแตกต่างกัน ดังนี้

กระดูกเสื่อม

โรคกระดูกเสื่อม คือโรคที่มีการเสื่อมของกระดูกอ่อนของข้อที่มีการเคลื่อนไหวมาก เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ และข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งส่วนประกอบหลักของกระดูกอ่อนเหล่านี้คือน้ำและโปรตีน ที่จะทำให้กระดูกอ่อนมีความยืดหยุ่น ทนต่อแรงกระแทกและเสียดสี แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะเกิดการเสื่อมและสึกหรอ

เมื่อเสื่อมแล้วก็จะเกิดอาการปวดขัดตามข้อ ข้อโปนและผิดรูป มักพบในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหนัก อย่างชาวไร่ชาวนา พ่อค้า แม่ค้า และกรรมกร คนเหล่านี้เมื่อไปโรงพยาบาล (ส่วนใหญ่ไปเป็นประจำ เพราะโรคไม่หาย) ก็จะได้ยาแก้อักเสบ บรรเทาปวด ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ แคลเซียม รวมถึงกลูโคซามีน เป็นหลัก

การรักษาคือ

ถ้าปวดมากก็ใช้ยาบรรเทาปวดหรือลดการอักเสบเป็นครั้งคราว ลดการใช้งานของข้อนั้นๆ บริหารข้อเพื่อสร้างความแข็งแรง รวมถึงอาจใช้ยาเสริมกระดูกพวกกลูโคซามีนช่วยได้บ้าง

กระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน หรือกระดูกโปร่งบาง บางครั้งเรียกว่ากระดูกผุ เป็นการเสื่อมของกระดูกแข็งที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย โดยมีเนื้อเยื่อกระดูกและแคลเซียมลดลง ทำให้กระดูกทรุดลงและแตกหักง่าย มักพบในผู้สูงอายุและสตรีหลังหมดประจำเดือน

โรคนี้แหละที่เป็นจุดขายของแคลเซียมและอาหารเสริมต่างๆ ในทางการตลาดจะส่งเสริมการขายโดยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้สูงอายุและสตรีสูงอายุเกือบทุกรายถ้าได้ตรวจก็จะพบว่ากระดูกบางกว่าปกติ แล้วก็จะได้แคลเซียมมา ซึ่งมักกำหนดให้กินในขนาดสูงๆ (ไม่ต่ำกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อวัน) โดยลืมพิจารณาว่าผู้ป่วยนั้นได้แคลเซียมจากอาหารการกินมากน้อยเพียงใด แล้วแคลเซียมที่ให้มานั้นเป็นเกลือแคลเซียมชนิดใด เวลาแตกตัวแล้วจะให้แคลเซียมอิสระปริมาณเท่าใด และที่สำคัญคือถ้าได้มากไปจะเกิดผลเสียอย่างไร

กระดูกอ่อน

โรคกระดูกประเภทสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือโรคกระดูกอ่อน เป็นลักษณะที่กระดูกขาดแคลเซียมโดยที่เนื้อเยื่อกระดูกปกติ ความแข็งแรงจึงลดลงแต่ยืดหยุ่นมากขึ้น มักพบในคนที่ขาดวิตามินดี เด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 3 ขวบ

คนที่ขาดสารอาหารรุนแรง ผู้สูงอายุที่ขาดการเคลื่อนไหวและไม่ได้สัมผัสแสงแดด ผู้ป่วยโรคไตพิการ หรือผู้ที่มีต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ

โรคนี้แหละที่ถือว่าร่างกายขาดแคลเซียมอย่างแท้จริง และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย การให้ทั้งแคลเซียมและวิตามินดี ร่วมกับการแก้ไขที่ต้นเหตุ

เรื่องของโรคกระดูกประเภทต่างๆ ที่กล่าวมา คงพอจะแยกแยะได้บ้างว่า การใช้แคลเซียมหรือผลิตภัณฑ์เสริมกระดูกต่างๆ นั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และใช้อย่างไรเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง